วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บทที่ 25 คิดถึงเพื่อนร่วมรบสงครามเวียตนาม

บทที่ ๒๕ ตอน : คิดถึงเพื่อนร่วมรบ สงครามเวียดนาม ?!

ขอสวัสดีท่านผู้อ่านด้วยความเป็นมิตรสหาย เพื่อจะได้รู้จักมักคุ้นกันเหมือนกับว่าเราเคยเห็นหน้ากัน หรือทำให้เกิดความรู้สึกว่า เราเคยกินข้าวร่วมโต๊ะ เคยนอนร่วมห้อง เคยต่อสู้กับพวกเผด็จการร่วมกัน เคยทำกิจกรรมหนักหน่วง

เคยมีความรักและเอ็นดูเสมือนญาติสนิทยากที่จะลืมเลือน

ท่านผู้อ่านครับ ผมใช้คำพูดเช่นนี้ก็เพราะว่าเราไม่มีทางเลยที่จะได้พบหน้ากันได้โดยง่าย อันเนื่องมาจากบางท่าน(กลุมของคุณมิวนิค) อยู่เยอรมันนี บางท่าน(กลุ่มของคุณ Freedom@USA คุณ Tiff) อยู่อเมริกา หรือว่าแม้จะอยู่ ใกล้กันในกรุงเทพฯหรือสมาชิกที่อยู่ใกล้กันแค่นี้ก็ตามที เอาเข้าจริงเหมือนกับอยู่คนละประเทศ ไม่มีโอกาสได้คบหาสมาคม เมื่อเราไม่มีทางได้คบหาสมาคม จึงเท่ากับว่าเราขาดพื้นฐานทางกายภาพขาดโอกาสที่จะได้ผูกมิตร ยิ่งผมเป็นคนวัยสูง ท่านเป็นคนวัยหนุ่ม ไม่นานผมก็ต้องอำลาพวกท่านทั้งหลายตามกฏของธรรมชาติ คือเกิดมาแล้วไม่นานก็ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ไม่มีใครจะอยู่ค้ำฟ้าได้ เมื่อสภาวะธรรมชาติมันบังคับเฃ่นนี้ก็ควรจะอาศัย"จิตทิพย์คบหากัน" ประหนึ่งเราได้เห็นหน้ากันขณะอ่านใบปลิวกู้ชาติของผม เปิดโอกาสให้จินตนาการได้คบหาสมาคมกันปล่อยให้จิตได้โลดแล่นไปบนถนนของความคิดและท่องเที่ยวย้อนกลับไปสู่อดีตอันยาวเหยียดที่พวกเราได้พบเห็นและผจญภัยผ่านมา

เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงคล้ายกับว่าท่านผู้อ่านไม่ได้ผ่านสมรภูมิของสงครามทหาร แต่แท้ที่จริงได้ผ่านสมรภูมิชีวิต นั้นก็คือการได้ผ่าน "การผจิญภัย" ไม่น้อยเลยมิใช่หรือ

การผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ได้แก่การต่อสู้เพื่อเอาชีวิตให้ดีขึ้นว่ามันมีคามยากลำบากปานใด เนื่องจากชีวิตของคนไทยมันถูกแบ่งเป็นมาตรฐานใคร มาตรฐานมัน ซึ่งผมเรียกว่า คนไทยในประเทศนี้ ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน ทั้งนี้เกิดจากสังคมทั้งปวงตกอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการ ซึ่งมีแต่ "พวกเขา"เท่านั้น ที่เจริญรุ่งเรืองและร่ำรวยขึ้นมาได้อย่างง่ายดายแต่ชีวิตของ "พวกเรา" และผู้คนอีกมากมายกว่าจะมาถึง "ปลายทาง" ได้ ต้องเผชิญปัญหาอันแสนทึ่งและนึกไม่ถึงว่ามันผ่านมาได้อย่างไร

ท่านผู้อ่านครับ ผมขอจบ "คำรำพัน" เอาไว้เพียงเท่านี้ก่อน ผมจะขออนุญาตนำพา ท่านเข้าสู่เรื่องราวย้อนอดีต ทบทวนความทรงจำ และขอบันทึกเอาไว้ใน "ใบปลิวกู้ชาติ" บทที่ ๒๕ บทนี้ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับ "ใบปลิวกู้ชาติ บทที่ ๒๑ - ๒๒ - และ ๒๓ ที่ได้นำ เสนอผ่านสายตาของท่านไปแล้ว

เรื่องราวในบทที่ ๒๕ ผมให้ชื่อว่า " คิดถึงเพื่อนร่วมรบในสงครามเวียดนาม" ซึ่งผมเชื่อ ว่าส่วนใหญ่ ได้สูญหาย ล้มตาย และอำลาโลกนี้ไปแล้ว ก่อนอื่น ขอกล่าวว่า คนไทยที่เข้าไปพัวพันกับ "สงคราม" เวียดนามมีอยู่ ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกได้แก่ "กองพันเสือดำ" ซึ่งเป็นทหารประจำการในกองทัพไทย รัฐบาลไทยได้ส่งทหารหาญเหล่านั้นเข้าสู่สมรภูมิติดต่อกันมาตั้งแต่สงครามโลกมาจนถึงสงครามเกาหลี ที่เส้นขนาน ๓๘ อันเป็นเส้นแบ่งเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้แล้วก็เลยมาร่วมรบกับทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม

ทหารหาญที่เข้าสู่สมรภูมิเวียดนาม มีจำนวนเท่าใด ใครบ้าง ผมไม่ทราบขอรับเพราะว่าพวกผมเป็น "ทหารนิรนาม" ได้รับการว่าจ้างจาก "กองทัพสหรัฐ" โดยตรง โดย มิได้ขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลไทย

ถึงกระนั้น แม้จะได้ชื่อว่า "ทหารนิรนาม" ก็ตาม ก็ยังแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มที่ ๑ ได้แก่ กลุ่มที่ขึ้นตรงกับ พันเอกเทพวิฑูร ยะสวัสดิ์ (ผู้การเทพ) แห่ง บก. ๓๓๓ ตั้งอยู่จังหวัดอุดรฯ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง "เป็นนักรบนิรนามที่ขึ้นกับ "นายพลวังเปา" มีค่าจ้างและสวัสดิการภายใต้ การควบคุมของ "นักรบนิรนาม ไทย-ลาว" ที่ไม่ทราบหน้าตา ผู้บังคับบัญชาที่แท้จริง

เรื่องราวที่ว่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๓ อยู่ในยุคจอมพลสฤษด์ ธนะรัชต์ ก่อนวันเสียงปืนแตก ๕ ปี

ก่อนหน้านั้น ๓ ปี (๒๕๐๑ - ๒๕๐๓)ผมรับราชการอยู่กับกรมโลหกิจ หรือกรมทรัพยากรในปัจจุบัน ผมตัดสินใจลาออกเพื่อจะไปเป็น "ลูกจ้าง" กับทหารอเมริกัน ที่มีรายได้ดีกว่าหลายเท่าตัว ผมพิศมัยเงินจนลืมความตาย จึงได้กลายเป็น "นักรบนิรนาม" ตั้งแต่บัดนั้น

นาทีแรกที่ได้เข้าร่วมกระบวนการสงคราม ทหารอเมริกันได้จัดระเบียบและพัฒนาชีวิตใหม่ทั้งหมด รวมทั้งได้จับ "สาบานตน" ว่า "ไอ สะแวร์ แด็ท" พร้อมกับได้กล่าวถ้อยคำต่อตามคำประกาศของ "อนุศาสนาจารย์" อเมริกัน ที่เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารจิตและวิญญาณในสถานการณ์สงคราม (ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์) !

ในสมรภูมินิรนาม ดังกล่าวนี้ มันได้ให้ความรู้ความสามารถ และได้พบเห็นชีวิตที่หลากหลาย รวมทั้งการปฏิบัติที่ล้ำลึกพิศดาร สิ่งนั้นก็คือ ทหารอเมริกันได้ "จัดหา"(Recruit) นักรบในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะได้แก่การ "ฉกตัวหนุ่มอีสาน แล้วปั้นเป็นนักบิน" เพื่อนที่แบกปืนร่วมรบกับผม ๕ คนกลายเป็นนักบินฝึกหัด

(๑) วรยุกต์ พิมพ์พิสุทธิ์
(๒) มณฑล สุวรรณพัฒน์

อีก ๓ คน ผมจำชื่อไม่ได้ ผมรู้สึกอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ที่เพื่อน ๆ ได้ รับฝึกให้เป็นนักบินขนส่งทางอากาศ นำสัมภาระไปถีบลงให้ทหารแม้วบนภูเขา ก็นับว่าเป็น ยอดของความยิ่งใหญ่ที่ได้เป็นนักบิน ผมได้รับข่าวระแคะระคายมาว่าบางคนก้าวขึ้นไปขับ F105 บรรทุกระเบิด ไปถล่มเวียดกง

ผมมีอาการ "ดิ้นรน" อยากได้รับความก้าวหน้าเหมือนเขาบ้าง จึงพูดกับหัวหน้าของผมชื่อ "ฟุลเล่อร์" มียศเป็น "ร้อยเอก" เขาส่งเสริมผมทันที แต่แทนที่จะได้ขึ้นหอกระโดดร่ม กลับส่งผมไปเรียนวิชาคอมมิวนิสต์ กับฮูก บาราฮับ ที่เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ผลของการเรียนจบมาจากสถาบันแห่งนี้ ผมได้รับการเลื่อนตำแหน่ง มอบหมายหน้าที่ให้เป็น "หัวหน้า" ถ่ายเทความรู้ ความเข้าใจแก่ลาวเทิง (ลาวภูเขา) โดยเอาชีวิตเข้าร่วมรบกับทหารนิรนามที่ซำเหนือ ติดพรมแดนจีน ทุ่งไหหินและริมตะเข็บ ชายแดนลาว - กำพูชา วิฃัย ขันธ์วิชัย เพื่อนเก่าจากวัดมหาธาตุ คนบ้านหมี่ ลพบุรี ได้ข่าวว่าผมทำงานกับ ทหารนิรนาม ก็ตามไปสมัครรบ แต่ได้ร่วมรบไม่ถึง ๓ เดือน วิชัยถูกจรวดศรีษะขาด โดยมีนักรบนิรนามตายพร้อมกันในวันนั้น ๑๙ คน !

ในช่วงนั้น สถานการณ์สงครามขยายวงกว้างไปทั่วอินโดจีน เพื่อนลาวของผมชื่อ บุญมี เทพศรีเมือง ได้รับทุนจาก "เจ้าเพชรราช" เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะประเทศไทยได้เปิดสนามบินขึ้นอย่างเปิดเผย เช่นสนามบินอู่ตะเภา สนามบินตาคลีสนามบินอุดร นครพนม นครราชสีมา และสนามบินจังหวัดอุบลราชธานี

ตัวผมมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นในหมู่ของพวก "นิรนาม" จึงได้รับการคัดเลือก ย้ายจากสมรภูมิ ให้ไปเป็น "ผู้ควบคุม" คลังสรรพาวุธ (AMMO) ที่สนามบิน บน. ๔ ตาคลี ใกล้กับจังหวัดชัยนาท แต่ดันไปขึ้นจังหวัดนครสวรรค์

ชีวิตที่ บน. ๔ ได้พลิกผันดวงชาตาไปอีกทิศทางหนึ่ง เพื่อน ๆ ในฐานทัพพากันได้รับทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาหลายคน เช่น "สุรัตน์ เชื้อชุ่ม" บุญชื่น อ่อนระหุ่ง ชำนาญ พิมลรัตน์ เป็นต้น

คน บน. ๔ ไม่มีใครรู้หรอกว่าผมจบจาก ฮูก บาราฮับ แต่ผมก็แปลกใจอย่างยิ่งว่าทำไมนะ "ท่าน ผบ. บน. ๔" ในขณะนั้น นาวาอากาศเอก ประหยัด ดิษยะศริน ซึ่งเป็นบิดาของ คุณวีระยุทธ ดิษยะศริน จึงจ้อง จะเล่นงานผม โดยท่านกับผมถึงขั้นมีปากเสียงกัน

ท่านพูดกับผมว่า ชีวิตของคุณผมรู้ คุณทำแบบนี้ คุณจะไม่มีวันได้อยู่สะบายกับครอบครัว ขอให้เลือกทางเดินให้ถูกต้อง...ผมขอเตือนคุณด้วยความหวังดี"

ผมไม่ตอบโต้ด้วยประการทั้งปวง อย่างไรก็ตาม ผมบอกกับ ผบ. บน. ๔ ว่า "สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ทำก็คือ ไม่เอาความลับของไทยไปให้ ซีไอเอ แต่ความลับของ ซีไอเอ ผมรายงานให้ท่านจอมพลถนอมโดยตรง" ว่าแล้วผมก็ขึงขังใส่ท่านทำราวกับว่าท่านมิได้มีความสำคัญในสายตาของผมเลย

นายทหารคนหนึ่ง "นาวาอากาศเอก เฉลย วริทราคม" ได้พูดติงผมว่า คุณคือพวกนิรนาม ต้องให้เกียรติแก่ทหารประจำการ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว จะอยู่ด้วยกันไม่ได้ คำพุดแบบนี้แหละทำให้ผม "ทนฟังไม่ได้" ผมจึงรีบไปพบจอมพลถนอม กิตติขจร แล้วรายงาน (ฟ้อง) ตามความเข้าใจของผม จอมพลถนอม กิตติขจร ให้เวลา ๙ นาที แล้วแนะนำผมว่า ถ้าจะให้ผมเลือก ผมต้องเลือก ผบ. บน. ๔ คุณกลับไปทำงาน ตามหน้าที่ของคุณดีกว่านะคุณสอาด

ผมกลับตาคลีครับ พร้อมกับ "รีบ" ขนครอบครัวออกจากตาคลีภายใน ๒๔ ชั่วโมง ทั้งนี้เนื่องจาก "สุชาติ ทองแย้ม" ได้กระซิบบอกผมว่า อย่าอยู่เลย เขาเตรียมฆ่าทิ้งแล้วเพื่อน ผมเชื่อ "สุชาติ ทองแย้ม" จึงหอบลูกเมียหนีกระทันหัน ทิ้งข้าวของรวมทั้งบ้าน ๑ หลัง ส่งครอบครัวกลับห้วยแถลงอีกครั้งหนึ่ง

ตัวผมเดินทางไปทำงานที่ "บาเกียว" ฟิลิปปินส์เป็นคำรบสอง (ปี ๒๕๑๐) โดยังกินเงินเดือนของ "นักรบนิรนาม" ในอัตรา TG10

ท่านผู้อ่านขอรับ ผมเขียนเรื่องราวคล้ายกับบันทึกความจำให้ท่านได้อ่านประกอบไปเรื่อยๆ จะได้มองเห็นภาพว่า "ทางเดินของใบปลิวกู้ชาติ" ที่ผมเขียนให้อ่าน ผมไม่ได้เขียนจากความฝัน แต่ได้เขียนจากเลือดและชีวิตที่ประสบพบเห็นมาด้วยตัวเองทุกประการ

โดยมี เป้าหมายเพื่อประเทศชาติอันเป็นที่รักจะได้มีความเข้าใจระบอบประชาธิปไตย ?!

จบบทที่ ๒๕ / สอาด จันทร์ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น